หมากขุม เกมรางหลุมสไตล์ Y2K

หน้าแรก ย้อนกลับ หมากขุม เกมรางหลุมสไตล์ Y2K

หมากขุม เกมรางหลุมสไตล์ Y2K

“หมากขุม เกมรางหลุมสไตล์ Y2K”

 

จุฬาลักษณ์ ไชยดี

        หมากขุม หมากหลุม หรือว่า หลุมเมือง  เป็นการละเล่นพื้นบ้านไทยภาคใต้ ที่เด็กใต้ยุค 90 ต้องรู้จักและคุ้นเคยกับการละเล่นนี้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่า ถ้าเปรียบเทียบกับเกมในสมัยนี้ ก็คงคล้ายกับเกม UNO ไม่ได้หมายถึงรูปแบบการเล่น หากแต่หมายถึงเป็นเกมที่ตัดเพื่อนเหมือนกัน อย่างผู้เขียนเองก็เคยเล่นสมัยเรียนชั้นประถมบอกเลยว่า “เกือบจะทะเลาะกันกับเพื่อนเพราะเล่นหมากขุมนี้เลยล่ะค่ะ  เรียกได้ว่าเป็นการละเล่นที่ทำให้สนิทกับเพื่อนเพิ่มมากขึ้นและตัดเพื่อนในเวลาเดียวกันเลยค่ะ”

        อุปกรณ์สำหรับการเล่นหมากขุมมีแค่ 2 อย่าง คือ รางหมากขุมและลูกสวาท (สามารถใช้ลูกแก้วแทนได้) พกพาง่าย เล่นได้เพลิน ๆ เป็นชั่วโมงสองชั่วโมง แถมเล่นได้ทุกที่ ทุกเวลา (ยกเว้นเวลาเรียนและเวลาทำงานนะคะ) อีกทั้งวิธีการเล่นนั้นง่ายมาก ๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน แม้แต่ผู้เล่นมือใหม่ก็สามารถเข้าใจวิธีการเล่นได้ในทันที

วิธีการเล่นหมากขุม

        1. ผู้เล่น 2 คนต่อ 1 รางหมากขุม โดยให้นั่งคนละฝั่งกัน ซึ่งจำนวนลูกสวาทที่อยู่ในหลุม จะขึ้นอยู่กับจำนวนของหลุมที่เป็นคู่ขนานกัน เช่น หมากขุมที่มีหลุมด้านละ 7 หลุม ก็ใส่ลงไปหลุมละ 7 เม็ด ให้มีจำนวนเท่ากันทุกหลุม ยกเว้นหลุมใหญ่หรือหลุมหัวเมืองของทั้งสองฝั่ง จะไม่ใส่ลูกสวาทลงไป

        2. ผู้เล่นทั้ง 2 คน จะต้องเป่ายิงฉุบ เพื่อหาผู้ที่จะได้เริ่มเล่นก่อน เมื่อได้ผู้ชนะจากการเป่ายิงฉุบแล้ว ในการเดินรอบแรก จะหยิบลูกหมากในหลุมทั้งหมด 1 หลุม ของฝั่งตนเอง แล้วหยอดเวียนไปทางด้านซ้ายมือเรื่อย ๆ รวมหลุมหัวเมืองของตนเองด้วย  การเดินหมากต้องมีการใส่ลูกหมากลงในฝ่ายตรงข้ามทุกหลุมละ 1 ลูก วนไปเรื่อย ๆ เมื่อลูกหมากตัวสุดท้ายหมดที่หลุมไหน ก็หยิบลูกหมากที่อยู่ในหลุมถัดไปทั้งหมดขึ้นมา แล้วใช้ลูกหมากที่หยิบขึ้นมานั้น ในการเดินหลุมต่อไป ซึ่งจะวนไปเรื่อย ๆ หลุมละ 1 ลูก จนกว่าลูกหมากจะไปจบที่หลุมว่างแล้วไม่มีลูกหมากให้หยิบต่อไปอีกแล้ว ก็ถือว่าจบเทิร์นและจะต้องหยุดเดิน เพื่อสลับให้ฝ่ายตรงข้ามได้เริ่มเล่นบ้าง

 

 

        3. จากข้อ 2 หากการจบเทิร์น ลูกหมากจบในหลุมของฝ่ายผู้เล่น โดยตรงกับหลุมที่มีหมากอยู่ของฝ่ายตรงข้าม  ผู้เล่นสามารถเอาหมากในหลุมนั้นใส่ในหลุมหัวเมืองของตนเองได้เช่นกัน

        4. จะเล่นอย่างนี้วนไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้เล่นทั้ง 2 ฝั่งไม่มีลูกหมากเหลือไว้ใช้เดินในแต่ละหลุมแล้ว หมายความว่าจะเหลือแค่เพียงลูกหมากในหลุมหัวเมืองเท่านั้น และผู้ชนะจะได้จากการนับลูกหมากในหลุมหัวเมืองว่าฝั่งใดมีมากกว่ากันนั่นเอง

        เป็นอย่างไรกันบ้าง กติกาการเล่นไม่ยากเลยใช่ไหม ฝึกลับสมอง ไหวพริบ ฝึกการวางแผน อีกทั้งยังเป็นการใช้เวลาว่างเพื่อนันทนาการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว พี่น้อง เพื่อน ได้อีกด้วย และแม้จะเป็นการละเล่นพื้นบ้านธรรมดา อาจจะสู้ความนิยมเท่าเกมออนไลน์ยุคปัจจุบันไม่ได้ แต่แน่นอนว่าได้รับความนิยมจากวัยรุ่น (ชาวใต้) ยุค 90 มากพอสมควร สำหรับใครที่อยากเล่นหรืออยากรำลึกความสนุกในวัยเด็ก หลังจากอ่านบทความนี้จบแล้ว อย่าลืม CF รางหมากขุมและลูกสวาทติดบ้านไว้ด้วยนะคะ เพราะว่า “อยากเล่น ต้องได้เล่น”

 

สุจิตรา เมฆหมอก. (2565).หมากขุม. https://bit.ly/3kofoJQ.

 

แชร์ 1629 ผู้ชม

ดนตรี การละเล่น ศิลปะพื้นบ้าน

องค์ความรู้